“เครื่องมือทันสมัยจะไม่เกิดประโยชน์อะไร ถ้าคนใช้ไม่มีศักยภาพเพียงพอ”
หน่วยจอตาและวุ้นลูกตาเป็นศูนย์ให้บริการรักษาโรคจอตาและวุ้นลูกตาแบบครบวงจร โดยสามารถตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาด้วยเครื่องมือพิเศษ เช่น การตรวจความผิดปกติของจุดรับภาพชัดโดยการสแกนด้วยแสงเลเซอร์ การตรวจหาความผิดปกติของเส้นเลือดบนจอตาและชั้นคอรอยด์ด้วยการฉีดสีเข้าหลอดเลือดดำ การตรวจความผิดปกติของจุดรับภาพชัดและเส้นเลือดบริเวณจุดรับภาพชัดโดยไม่ต้องฉีดสีเข้าเส้นเลือด อาศัยการสแกนด้วยแสงเลเซอร์ความเร็วสูง
แต่การลงทุนในเครื่องมือที่ใช้ในการรักษาเพื่อให้ทันสมัยทัดเทียมกับนานาชาติจะไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด หากคุณภาพของบุคลากรไม่ได้รับการพัฒนา ทางหน่วยฯจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรทีมแพทย์เป็นอย่างมาก อาจกล่าวได้ว่า หน่วยจอตาและวุ้นลูกตา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีศักยภาพของแพทย์ผู้รักษา บุคลากร และเครื่องมือในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคจอตาและวุ้นลูกตาอย่างครบวงจรเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย
หน่วยจอตาและน้ำวุ้นลูกตา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นศูนย์การให้บริการรักษาโรคจอตาและน้ำวุ้นลูกตาแบบครงวงจร ได้เปิดให้บริการตรวจรักษาโรคของน้ำวุ้นลูกตาและความผิดปกติของจอตาทั้งในผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ หรือโรคจอตาและน้ำวุ้นลูกตาที่มีความซับซ้อนกว่าผู้ป่วยปกติได้ โดยสามารถให้การตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาด้วยเครื่องมือพิเศษ อาทิเช่น
การตรวจความผิดปกติของจุดรับภาพชัดโดยการสแกนด้วยแสงเลเซอร์ (Optical Coherence Tomography : OCT)
การตรวจหาความผิดปกติของเส้นเลือดบนจอตาและชั้นคอรอยด์ด้วยการฉีดสีเข้าหลอดเลือดดำ (Fundus Fluoresceine Angiography and Indocyanine-Green Angiography : FFA and ICGA) ทั้งแบบปกติและแบบมุมกว้าง (Ultra-wide field angiography)
การตรวจความผิดปกติของจุดรับภาพชัดและเส้นเลือดบริเวณจุดรับภาพชัดและขั้วประสาทตาโดยไม่ต้องฉีดสีเข้าเส้นเลือด อาศัยการสแกนด้วยแสงเลเซอร์ความเร็วสูง (Swept-source Optical Coherence Tomography with Angiography (Swept-source OCT with OCTA)
การตรวจตาด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Ophthalmic Ultrasound Suite)
การถ่ายภาพจอตาโดยใช้กล้องความละเอียดสูง (High-Definition Fundus Photography)
การตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของเซลล์จอตาและบริเวณจุดรับภาพชัดโดยใช้คลื่นไฟฟ้า (Electrophysiologic Study of Retina and Macula)
การตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของเซลล์จอตาและบริเวณจุดรับภาพชัด ระดับโมเลกุล (Biochemical marker and Molecular Study of Retina and Macula)
การตรวจการทำงานของบริเวณจุดรับภาพชัด โดยการวัดลานสายตาระดับจุลภาค (Automated Microperimetry)
การตรวจโครงสร้างของจอประสาทตาและบริเวณจุดรับภาพชัด โดยการสแกนด้วยแสงเลเซอร์ในขณะทำการผ่าตัด (Intraoperative Optical Coherence Tomography)
โดยเราพร้อมที่จะให้การรักษาความผิดปกติของจอตาและน้ำวุ้นลูกตาได้อย่างหลากหลาย ได้แก่
1. ความผิดปกติของหลอดเลือดในจอตา อาทิ เช่น
- โรคเบาหวานขึ้นจอตา (Diabetic Retinopathy)
- โรคหลอดเลือดดำบนจอตาอุดตัน (Retinal Venous Occlusion)
- โรคหลอดเลือดแดงบนจอตาอุดตัน (Retinal Arterial Occulsion)
- โรคการอักเสบของหลอดเลือดบนจอตา
- โรคความผิดปกติอื่นๆ ของหลอดเลือดบนจอตา
2. ความผิดปกติของบริเวณจุดรับภาพชัดบนจอตา อาทิ เช่น
- โรคจุดรับภาพชัดเสื่อมเหตุจากอายุ
- โรคจุดรับภาพชัดบวมจากสาเหตุต่างๆ
- โรคพังผืดเกาะบริเวณจุดรับภาพชัด
- โรคความผิดปกติของหลอดเลือดใต้จุดรับภาพชัด
- โรคจุดรับภาพชัดเป็นรู
- โรคความผิดปกติของรอยต่อระหว่างจุดรับภาพชัดและน้ำวุ้นลูกตา
- โรคความผิดปกติอื่นๆ ของจุดรับภาพชัด
3. โรคจอตาฉีกขาด และจอตาลอก อาทิ เช่น
- โรคจอตาฉีกขาดและการลอกตัวของชั้นจอตา
- โรคจอตาลอกจากความผิดปกติอื่นๆ ของจอตา
4. ความผิดปกติของน้ำวุ้นลูกตา อาทิ เช่น
- เลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา
- การเสื่อมสภาพของน้ำวุ้นลูกตา
- โรคการตกตะกอนในน้ำวุ้นลูกตา
5. โรคจอประสาทตาในเด็ก อาทิ เช่น
- โรคจอประสาทตาในเด็กทารกที่เกิดก่อนกำหนด
- โรคจอประสาทตาเสื่อมในเด็ก
- ความผิดปกติอื่นๆ ของจอตาและน้ำวุ้นลูกตาในเด็ก
6. อุบัติเหตุในส่วนหลังของลูกตา
7. การอักเสบและการติดเชื้อในลูกตา
8. ความผิดปกติอื่นๆ ของจอตาและน้ำวุ้นลูกตา
ทั้งนี้ หน่วยจอตาและน้ำวุ้นลูกตา มีอาจารย์ประจำหน่วยทั้งหมด 5 ท่าน ประกอบด้วย
อ.นพ. กิตติศักดิ์ กุลวิชิต (หัวหน้าหน่วย)
รศ.นพ. ปกิตติ ทยานิธิ
อ.นพ. อดิศัย วราดิศัย
อ.พญ. แพร์ พงศาเจริญนนท์
อ.นพ. อภิวัฒน์ มาวิจักขณ์และมีอาจารย์พิเศษที่คอยให้คำปรึกษาในการดูแลรักษาผู้ป่วยอีก 4 ท่าน ได้แก่
รศ.นพ. เพชร พิศาลก่อสกุล
อ.นพ. ประศาสน์ ลักษณะพุกก์
อ.นพ. กฤษณะ พงศกรกุล
อ.นพ. กฤติเดช เตชะคุปป์
นอกจากนี้ ทางหน่วยจอตาและน้ำวุ้นลูกตายังมีศักยภาพในการให้การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอดอีกปีละ 3 ราย และยังเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ให้กับแพทย์ประจำบ้านของภาควิชาจักษุวิทยาอย่างเสมอมา รวมทั้งมีนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพทางจอตาและการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องมือพิเศษที่คอยสนับสนุนการให้บริการแก่ผู้ป่วย และยังมีการจัดการประชุมวิชาการและสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อเป็นการต่อยอดความรู้ให้กับแพทย์หรือจักษุแพทย์จากทั้งภายในและภายนอกอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังเพื่อส่งเสริมความรู้และประสบการณ์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคจอตาและน้ำวุ้นตาให้แก่สังคม เพื่อให้ผู้ป่วยในกลุ่มโรคนี้ สามารถกลับไปใช้สายตาให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ในอนาคต