“อาการตาอักเสบอาจมีความเกี่ยวข้องกับโรคทางกายอื่น ๆ ทำให้ทีมแพทย์ต้องวินิจฉัยให้แม่นยำที่สุด”
โรคม่านตาอักเสบเป็นโรคที่ค่อนข้างกว้างและมักจะเกี่ยวกับโรคตาอื่นๆด้วย อีกทั้งยังเป็นโรคที่ไม่ได้แสดงเฉพาะที่ตาอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับโรคอื่น ๆเช่น โรคเอสแอลอี (SLE) โรคข้อ เป็นต้น เนื่องจากตัวโรคอาจเป็นการผสมผสานกันของหลายโรค และแสดงอาการออกมาว่า “ตาอักเสบ” แพทย์จึงต้องสามารถวินิจฉัยให้แม่นยำที่สุด
ที่ผ่านมาทางหน่วยฯ ได้ทำการวิจัยร่วมกับ University of California San Francisco Proctor Foundation เป็นการตรวจแบบใหม่ที่เรียกว่า Metagenomics Deep Sequencing (MDS) คือการนำสารพันธุกรรมทั้งหมดที่มีอยู่ในเชื้อนั้นไปเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลที่มีอยู่ทั่วโลก เพื่อให้สามารถตรวจวินิจฉัยได้มากขึ้น สำหรับผลงานวิจัยที่โดดเด่นซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในต่างประเทศ ได้แก่ การนำเอาเครื่องสแกนจอประสาทตาซึ่งสามารถมองเห็นเส้นเลือดที่จอประสาทตาหรือในดวงตา โดยไม่ต้องฉีดสีมาทดลองกับโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย คือ Behcet’s diseases รวมถึงการได้ร่วมกับจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคม่านตาอักเสบจากทั่วโลกในการปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษาโรค Vogt-Koyanagi-Harada (VKH) จนสามารถคุมโรคให้ได้ดีขึ้นได้