Chulalongkorn Eye Center

ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Chulalongkorn Eye Center

ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน่วยจักษุประสาทวิทยา

“ดวงตาเป็นหน้าต่างของสมอง”

       เพราะดวงตาประกอบด้วยเส้นประสาทจำนวนมาก โดยเฉพาะเส้นประสาทที่เชื่อมต่อโดยตรงไปสู่สมอง ในมุมมองของแพทย์ด้านจักษุประสาทจึงกล่าวว่า “ดวงตาเป็นหน้าต่างของสมอง” เนื่องจากเส้นประสาทตาเป็นส่วนหนึ่งของสมอง และเป็นตำแหน่งเดียวที่เราสามารถเห็นเส้นประสาทและเส้นเลือดที่จะมารวมกันและเชื่อมต่อไปถึงสมองได้ เมื่อประกอบกับแนวโน้มของสังคมสูงวัย ส่งผลให้โรคที่เกี่ยงข้องกับสมอง อาทิ โรคหลอดเลือดสมอง โรคสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์ มีส่วนสำคัญขึ้นอย่างมาก หน่วยจักษุประสาทวิทยาจึงได้ทำงานร่วมกับสหสาขาวิชาทั้งอายุรกรรมประสาท และศัลยกรรมประสาท เพื่อจัดตั้งทีม “ศูนย์ประสาทศาสตร์” (Neuroscience Center) ในการค้นหาตัวบ่งชี้ก่อนเกิดโรคเพื่อให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ยังได้พัฒนาระบบเทเลคลินิก (Tele Clinic) ผ่านแอปพลิเคชันจุฬาแคร์ (Chula Care) เพื่อตรวจติดตามผู้ป่วยทางไกลที่มีอาการไม่รุนแรง ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไกล ลดค่าใช้จ่ายการเดินทาง และไม่ต้องเสียเวลารอคิวพบแพทย์นาน

เรายินดีให้การบริการผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจักษุประสาทวิทยา อาทิ เช่น ปัญหาด้าน

อาการตามัวลง ที่อาจเกิดจากโรคของเส้นประสาทตา ได้แก่ เส้นประสาทตาอักเสบ (Optic neuritis), เส้นประสาทตาขาดเลือด (Ischemic optic neuropathy) และเส้นประสาทตาเสื่อมจากการถูกกดทับ (Compressive optic neuropathy)

อาการเห็นภาพซ้อน หรือ รูม่านตาไม่เท่ากัน หนังตาตก ที่มีสาเหตุเกิดจากโรคของเส้นประสาททีใช้ควบคุมการกลอกตาและรูม่านตา

อาการกล้ามเนื้อรอบตาหรือใบหน้ากระตุก โดยสามารถให้การรักษาโดยการฉีดสารโบทูลินั่มท็อกซิน

       โดยมีการให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นทีม โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจักษุประสาท ร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางระบบประสาทด้านต่างๆ อาทิ เช่น อายุรกรรมประสาท ประสาทรังสีวิทยา ประสาทศัลยศาสตร์ เป็นต้น โดยมีการประชุมร่วมกันระหว่างแพทย์สหสาขาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยแบบองค์รวมและเพื่อประโยชน์ในการฝึกอบรมจักษุแพทย์ทั่วไปรวมถึงจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุประสาทวิทยา และมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยสร้างนวัตกรรมร่วมกันเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยจักษุประสาท

นอกจากนี้ เรายังสามารถทำการตรวจวินิจฉัยโรคทางจักษุประสาทด้วยการตรวจพิเศษที่ทันสมัย ได้แก่

 – การตรวจลานสายตาด้วยเครื่องตรวจลานสายตาอัตโนมัติ (Computerized Visual Field Analysis)

 – การสแกนความหนาของเส้นประสาทตาและหลอดเลือดที่จอตาและขั้วประสาทตา (Optical Coherence Tomography and OCT angiography)

 – การตรวจการมองเห็นสีแบบซับซ้อนและความสามารถในการแยกแยะแถบขาวดำ (Sophisticated color vision and contrast sensitivity analysis)

 – การตรวจวินิจฉัยการทำงานของเซลล์รับแสงที่จอตาและประสาทตา โดยการตรวจคลื่นไฟฟ้าของจอตาและเส้นประสาทตา (Electrophysiological study of retina and visual pathway)

โดยมีอาจารย์ประจำหน่วย จำนวน 3 ท่าน ได้แก่

รศ.พญ. พริมา หิรัญวิวัฒนกุล (หัวหน้าหน่วย)
รศ.พญ. สุภรัตน์ จริยโกศล
อ.นพ. สุภณัฐ อภิญญาวสีสุข

และอาจารย์พิเศษ ได้แก่
อ.พญ. เบญจวรรณ วุฒิวรวงศ์